สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติประกาศรายชื่อองค์กรไทยคุณภาพ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชนและรัฐวิสาหกิจ ดำเนินกิจการในภาคการศึกษา การสาธารณสุข การบริการ และภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านเกณฑ์คว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ (Thailand Quality Class: TQC) ประจำปี 2562 ได้สำเร็จ ในงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม 601 ชั้น 6 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
งานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี เป็นประธานในงาน และกล่าวถึงรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนความสามารถของอุตสาหกรรมในภาพรวม เนื่องจากเป็นเครื่องมือยกระดับการบริหารจัดการ สามารถสร้างคุณค่า และเพิ่มผลิตภาพของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือการบริการ รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพในภาครัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของการพัฒนาประเทศ รวมทั้งภาครัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจเดินไปได้อย่างราบรื่น และรวดเร็ว รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคส่วนต่าง ๆ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและเป็นฐานในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล ในปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กร ดังต่อไปนี้
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) จำนวน 2 องค์กร ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มบริษัททรู
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) จำนวน 3 องค์กร ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- บริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่น จำกัด
และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) จำนวน 8 องค์กร ได้แก่
- การประปานครหลวง
- คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
- ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ : บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
และยังมีการกล่าวถึงผลลัพธ์จากการที่องค์กรนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในองค์กร ที่ส่งผลเชิงบวกต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศหลายประการ อาทิ อัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับผลิตภาพ (Productivity) ขององค์กรที่มีระดับสูงขึ้น สมรรถนะขององค์กรด้านผลิตภาพค่าจ้างแรงงาน (Wage Productivity) และมูลค่าเพิ่มต่อยอดขาย (Value Added to Sales) การเพิ่มขึ้นของจำนวนนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อ ผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวม หรือ TFP (Total Factor Productivity) อีกทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการบริหารจัดการ ของผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี 2562-2563 “เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินตนเองขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกภาคส่วน อีกทั้งเป็นกลไกที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนผลิตภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Transformation) เพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย โดยมุ่งมองไปยังอนาคต บนพื้นฐานของมุมมองในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ”
อีกทั้งยังกล่าวถึงเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติได้รับการนำไปใช้เป็นกรอบการพัฒนารางวัลคุณภาพอื่น ๆ ในภาครัฐและเอกชนอย่างแพร่หลาย ได้แก่ มาตรฐานโรงพยาบาลและการบริการสุขภาพ หรือ Hospital Accreditation : HA การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือ Public Sector Management Quality Award : PMQA เกณฑ์การประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจหรือ State Enterprise Performance Appraisal : SEPA เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ Office of the Basic Education Commission Quality Award: OBECQA ตลอดจนภาคการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ หรือ Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx และรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ หรือ SME National Awards”
“นอกจากนี้ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มุ่งสร้างประสิทธิผลในเชิงผลลัพธ์ และเพิ่มผลิตภาพในวิสาหกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ผ่านการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ”
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับการดำเนินงานและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อระดับผลิตภาพที่ดีขึ้นขององค์กร เกิดเป็นวัฒนธรรมการบูรณาการกระบวนการทำงานระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ต่อไป