จรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมิน

ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

เป็นองค์ประกอบที่สำคัญภายใต้การบริหารรางวัลคุณภาพแห่งชาติ การปฏิบัติงานของผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในการตรวจประเมิน คัดเลือกองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ และจัดทำรายงานป้อนกลับให้องค์กรนำไปใช้ในการพิจารณา และปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น นับเป็นบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในการผดุงและรักษาสถานะของรางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ พึงปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสาธารณะ และปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และเชื่อถือจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนทั่วไป

หลักปฏิบัติของผู้ตรวจประเมิน

หมวดที่ 1 ความเป็นมืออาชีพ: ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะต้อง

1.1 ประพฤติตนอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ ถูกต้อง เป็นธรรม ให้เกียรติและรับผิดชอบต่อสาธารณชน

1.2 ตรวจประเมินรายงานวิธีการและผลการดำเนินงาน (Application Report) องค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลที่ได้รับมอบหมายด้วยตนเองอย่างเป็นเอกเทศ

1.3 ไม่ติดต่อกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลหรือแสวงหาเอกสาร ข้อมูล คำชี้แจงเกี่ยวกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลเพิ่มเติม ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ รวมถึงการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นผู้ติดต่อกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลในทุกขั้นตอนของการตรวจประเมิน

1.4 ไม่ส่งรายงานป้อนกลับเกี่ยวกับคะแนนหรือผลการประเมินโดยรวมให้แก่ผู้สมัครขอรับรางวัลด้วยตนเอง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างหรือหลังการตรวจประเมิน

1.5 ส่งเสริมและธำรงไว้ซึ่งบรรยากาศในการทำงานแบบมืออาชีพ ด้วยการให้เกียรติต่อองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล และสมาชิกทุกคนในคณะผู้ตรวจประเมิน ในช่วงการตรวจประเมินขั้นที่ 2 (Consensus Review) และขั้นที่ 3 (Site Visit Review)

1.6 ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม ค่านิยม สภาพแวดล้อม และบรรยากาศการทำงานขององค์กรที่ได้รับการตรวจประเมินในระหว่างการตรวจประเมินขั้นที่ 3 (Site Visit Review)

1.7 รักษาและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในกระบวนการตรวจประเมิน รวมถึงรักษาความลับของข้อมูลในใบรับรองคุณสมบัติ ใบสมัคร และรายงานวิธีการและผลการดำเนินงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล

หมวดที่ 2 การเก็บรักษาความลับ

เพื่อรักษาความลับของข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล และการดำเนินงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลที่ได้รับ ตลอดกระบวนการตรวจประเมิน ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติจะต้อง

2.1 ไม่แลกเปลี่ยน เปิดเผย หรือวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลกับผู้อื่น รวมทั้งผู้ตรวจประเมินท่านอื่น ยกเว้นผู้ตรวจประเมินที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ในคณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการด้านเทคนิค และ คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ครอบคลุมถึงข้อมูลในเอกสารใบรับรองคุณสมบัติ ใบสมัคร และรายงานวิธีการและผลการดำเนินงาน และข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมในระหว่างการตรวจประเมินขั้นที่ 3 (Site Visit Review)

2.2 ไม่เปิดเผยชื่อองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจประเมิน ในระหว่างหรือภายหลังกระบวนการตรวจประเมิน

2.3 ไม่เปิดเผยต่อผู้ตรวจประเมินท่านอื่นทั้งในระหว่างการฝึกอบรมผู้ตรวจประเมิน และการตรวจประเมินทุกขั้นตอน รวมถึงภายหลังการตรวจประเมิน ในกรณีที่ตนเองมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษา ฝึกอบรม หรือจัดทำใบรับรองคุณสมบัติ ใบสมัคร และรายงานวิธีการและผลการดำเนินงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล

2.4 ไม่จัดทำหรือเก็บสำเนาข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล ผู้ตรวจประเมินทุกคนในคณะผู้ตรวจประเมินจะต้องส่งคืนเอกสารและข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลให้กับสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติทันทีที่เสร็จสิ้นกระบวนการตรวจประเมิน

2.5 ไม่เก็บบันทึกใด ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ สื่อใด ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล ผู้ตรวจประเมินทุกคนในคณะผู้ตรวจประเมินจะต้องทำลายข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ทั้งหมดเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจประเมิน เพื่อป้องกันการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ใด ๆ

2.6 ไม่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรผู้สมัครขอรับรางวัล โดยระบุถึงชื่อหรือเอกลักษณ์ขององค์กรดังกล่าวทางโทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อใด ๆ

2.7 ไม่นำข้อมูลขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลไปดัดแปลง หรือไปใช้หลังจากการตรวจประเมิน ยกเว้นเป็นข้อมูลที่องค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลเปิดเผยต่อสาธารณะด้วยตนเอง เช่น นำเสนอในการประชุม TQA Conference ประจำปี

2.8 ปกป้องความลับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการตัดสินหรือการตรวจประเมินองค์กรของผู้สมัครขอรับรางวัลทั้งในปัจจุบันและในอดีต

2.9 ปกป้องข้อมูลอันเป็นความลับและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิ หรือกระบวนการ ตรวจประเมินของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทั้งในปัจจุบันและในอนาค

หมวดที่ 3 ผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะต้อง

3.1 ไม่ติดต่อองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจประเมิน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งการสร้างโอกาสเพื่อให้ได้รับการว่าจ้างหรือเพื่อการเป็นที่ปรึกษาหรือวิทยากรสำหรับการฝึกอบรมภายในองค์กรนั้น และหากผู้ตรวจประเมินได้รับการติดต่อจากองค์กรดังกล่าว ผู้ตรวจประเมินจะต้องไม่ยอมรับการว่าจ้างจากองค์กรนั้น ๆ เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากการตรวจประเมิน

3.2 ไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจประเมินให้แก่องค์กร หรือหน่วยงานที่เป็นคู่แข่ง หรือลูกค้า หรือผู้ส่งมอบโดยตรงขององค์กร หรือหน่วยงานย่อยภายในองค์กรที่ตนปฏิบัติงาน

3.3 หลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดแย้งในผลประโยชน์ หรือการมีสถานภาพที่อาจมีผลประโยชน์ ขัดแย้ง หรืออาจขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ของรางวัล การบริหารรางวัล และเกียรติภูมิของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

3.4 ไม่ใช้หน้าที่ของการเป็นผู้ตรวจประเมินเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่รวมถึง การประเมินองค์กร หรือหน่วยงานย่อยในองค์กรที่ตนปฏิบัติงานอยู่ (Self Assessment) ตลอดจนการประเมินองค์กรที่ตนให้หรือคาดว่าจะให้คำปรึกษา เป็นหรือคาดว่าจะเป็นวิทยากรสำหรับการฝึกอบรมภายในองค์กรนั้น

3.5 ไม่เจตนาสื่อสารข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความถูกต้อง เที่ยงตรงของกระบวนการพิจารณา และการตัดสินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

3.6 ไม่ใช้เอกลักษณ์หรือตราสัญลักษณ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อประโยชน์ใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

นอกจากนั้น ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะต้องสนับสนุนและทำให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มีคุณภาพและพัฒนายิ่งขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้องค์กรในประเทศไทยได้ปรับปรุงคุณภาพ ผลิตภาพ และผลการดำเนินการโดยรวม